Joe Rainforest
-
September 4, 2019
“Rainforest Party ช่วงเวลาของความทรงจำอันงดงาม”
-
September 4, 2019
Rainforest Thailand 17th Year Anniversary
JOE RAINFOREST
“โจ้-ชยวัสส์ ปัญจภักดี” นักจัดดอกไม้เบอร์ต้น ๆ ที่บ่มความฝันนานกว่า 40 ปี กว่าจะประสบความสำเร็จ
“ไม่มีใครแก่เกินกว่าจะประสบความสำเร็จ” คำพูดนี้อาจใช้อธิบายเส้นทางชีวิตของ “โจ้-ชยวัสส์ ปัญจภักดี” ผู้ที่เคยล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ยอมทิ้งความฝันและสิ่งที่เขาหลงรัก ต่อสู้พยายามจนเปิดบริษัท Rainforest the Wedding ที่มีผลงานการออกแบบดอกไม้โดดเด่นได้รับการยอมรับ จนได้ขึ้นทำเนียบนักจัดดอกไม้มือวางอันดับต้น ๆ ของไทย พ่วงตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ดอกไม้ ในตอนที่เขาอายุ 40 ปี
“ตอนเด็ก ๆ เวลาเขาถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร อาชีพที่เราสนใจมันไม่ได้เป็นอาชีพอย่างพวก หมอ ทหาร ครู ผมเคยอยากเป็นกัปตันห้องอาหาร คนอาจคิดว่าตอแหล แต่เราไม่ใช่คนรวยไง ตอนนั้นคิดว่าการใส่สูทบริการคนอื่นมันก็ดูดีนะ เอาจริงเราเป็นคนชอบงานศิลปะชอบงานจัดดอกไม้ แต่จนถึงทุกวันนี้ในประเทศไทยก็ยังไม่มีโรงเรียนสอนอย่างเป็นทางการ มันเป็นเรื่องที่ครูพักลักจำเอาเอง”
อาจเพราะความชอบการบริการทำให้ ชยวัสส์ ปัญจภักดี มีโอกาสเรียนที่ คณะวิทยาการจัดการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยความเป็นคนชอบทำกิจกรรมทำให้เขาลงสมัครสภานักศึกษา ฯ ได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ของคณะ และเข้าร่วมกิจกรรมของทางคณะอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่หลังจากเรียนได้เพียงปีเดียว เขาได้ตัดสินใจลาออกมาเรียนที่ สถาบันไอทิม (I-Tim) สถาบันสอนการโรงแรมและการท่องเที่ยวนานาชาติ โดยใช้พยายามสอบเข้าอยู่ถึงสองรอบ
หลังจากเรียนจบเขาได้ไปฝึกงานตามโรงแรม และบริษัททัวร์ ก่อนจะพบว่าสายอาชีพนี้ต้องใช้ทักษะด้านภาษาอังกฤษอย่างมาก เขาเลยตัดสินใจหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการไปเรียนต่อที่รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขานิยามตัวเองว่านอกจากประสบความสำเร็จช้าแล้วยังเรียนช้าอีกด้วย ตอนไปเรียนฮาวาย ก็เลยทำงานร้านอาหาร กับรับงานโลคอลไกด์เป็นหัวหน้าทัวร์พาคนไทยเที่ยวอเมริกา จนเรียนจบกลับมาปี 2540 ฟองสบู่แตกพอดี ทำให้ไปยื่นจดหมายสมัครงาน แต่กลับไม่มีที่ไหนเรียกเลย
“ช่วงชีวิตตั้งแต่เจอมรสุมจิตใจมันห่อเหี่ยวเหมือนกันนะ จบโทมาจากเมืองนอกแต่หางานไม่ได้ ตอนนั้นทุกวันต้องวิ่งไปแผงหนังสือ เปิดหาว่ามีงานไหนรับสมัครบางไหม ส่งไปก็หาย ส่งจดหมายไปทุกวันรอก็แล้วไม่มีตอบกลับ หนังสือพิมพ์กองเต็มบ้านซื้อมาอ่านแต่หน้าหางานอย่างเดียว”
โชคดีตอนนั้นสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์เปิดรับสมัคร เขาเลยได้เป็นสจ๊วต แต่หลังจากทำได้เพียงสองปี ก็เจอเหตุการณ์ 9/11 ทำให้สายการบินต้องลดพนักงาน เขาเลยออกมาเป็นอาจารย์ด้านการโรงแรมอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาพอเหตุการณ์สงบทางสายการบินยูไนเต็ดเปิดรับอีกครั้ง เขาได้ไปสมัครอีกรอบ แต่สักพักก็โดนปลดอีกเพราะเกิตวิกฤตการเงินขึ้นทั่วโลก
ความโชคร้ายในการทำงานของเขาไม่ได้มีเพียงแค่นี้ เขาได้เอาเงินเก็บจากงานสจ๊วตมาทุ่มเทให้กับการทำธุรกิจร่วมกับเพื่อน แต่ยอดขายไม่เข้าเป้ามิหนำซ้ำยังถูกหุ้นส่วนหักหลัง เลยต้องปิดตัวลงไป เขายังเคยเปิดร้านอาหารแต่แทบไม่มีลูกค้าเข้าร้าน เพราะทำเลไม่เข้ากับสไตล์ร้าน นอกจากนี้ยัง ได้ลองขายเครื่องสำอาง เปิดร้านขายดอกไม้ที่พัทยา หรือแม้แต่ลงทุนทำกล้วยไม้บรรจุกล่องขายเป็นของฝากให้นักท่องเที่ยว แต่แทบทุกอย่างที่เขาจับกลับล้มเหลวหมด
“ตอนเรียกว่าหมดตัวได้เลยนะ ล้มเหลวจนหลอนไม่กล้าลงทุนอะไรอีกเลย หลังจากนั้นเลยตั้งปณิธานว่าจะไม่ทำธุรกิจที่เอาเงินมาลงทุนก่อน จะเอาเงินที่ลูกค้ามัดจำมาต่อยอด เริ่มต้นจากธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ เป็นพ่อค้าคนกลางส่งดอกไม้ตามออเดอร์ให้โรงแรม”
งานจัดดอกไม้แรก ๆ ที่ โจ้ ชยวัสส์ ได้รับอาจจะเป็นการจัดดอกไม้ให้กับงานประชุมผู้ปกครองที่เขาได้ไปสอน งานนั้นเขาได้งบประมาณมา 250 บาท แม้จะเป็นจำนวนเงินที่น้อยนิด แต่เขาก็จัดแบบตั้งใจใส่เต็มที่ ไปแอบเด็ดดอกไม้จากข้างถนนมาเสริม ไปตัดรากไทรจากต้นไทรในโรงเรียนมาเพิ่มเติม หลังจากงานนั้นมีคนที่เริ่มเห็นความสวยงามของดอกไม้ที่เขาจัด มาขอให้จัดดอกไม้บูเก้ในงานรับปริญญา โดยมีงบให้ 1,200 เขาก็รีบรับแม้จะหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือกำไรเพียงไม่กี่ร้อย แล้วยังต้องขับรถไปส่งถึงที่ก็ตาม
จุดเปลี่ยนคืองานแต่งงานของเพื่อนแอร์โฮสเตส ที่เขาถูกขอร้องให้เป็นผู้ดูแลออกแบบงานดอกไม้ทั้งหมด โดยให้ค่าใช้จ่ายมา 50,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขขั้นต่ำของร้านรับจัดดอกไม้ชื่อดังในสมัยนั้น เมื่อโอกาสครั้งใหญ่เข้ามาหาถึงที่เขาได้จัดเต็ม ทั้งได้ประยุกต์เอางานศิลปะและวาดรูปที่เขาชอบ เข้ากับงานตกแต่งภายใน ไปหาตัวอย่างงานจากเมืองนอกมาดู จนได้ดอกไม้ธีมสีพาสเทลตรงตามโจทย์ที่เพื่อนต้องการ
“งานนั้นผมซื้อดอกไม้มาเพิ่มอีกเยอะ เหมาเอาดอกไม้จากตลาดที่ราคาไม่แพงอย่างพวกดอกหักร่วง มาตัดมาปักเป็นลายกราฟิค น่าจะเป็นงานที่ใหม่มากในตอนนั้น พองานออกมาดี มีเพื่อนที่เป็นนักเขียนเอาภาพไปลงในเว็บไซต์ แล้วมีคนรีวิวว่าชอบเพราะแปลกใหม่มาก คนก็เริ่มบอกต่อ ๆ กัน จนมีคนสอบถามเข้ามา แรก ๆ ก็มีงานสองสามเดือนที จนเยอะขึ้นเลยได้ออกจากงานประจำมาทำธุรกิจเต็มตัว”
จากงานเล็ก ๆ ที่มีงบเพียง 250 บาท มาวันนี้เขาได้ขยายธุรกิจรับจัดดอกไม้ในชื่อ Rainforest the Wedding ที่แตกไลน์ครอบคลุมไปถึง Fleur by Rainforest, Bellery Glasshouse, Rain Rental ให้เช่าอุปกรณ์ ไปจนถึง นิราลัย by Rainforest ที่ดูแลดอกไม้ในพิธีศพโดยเฉพาะ
นอกจากงานใหญ่ระดับประเทศที่เคยผ่านมือ โจ้ เรนฟอเรสท์ อย่าง งานพิธีหมั้นของชมพู่กับน็อต งานพิธีมิสซาสมรสที่ระดมนักร้องประสานเสียงนับร้อยชีวิตปิดโบสถ์ดอนบอสโก้ ไปจนถึงดอกไม้ในงานพิธีสวดอภิธรรมของเจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา แล้วยังมีต่างชาติที่เห็นผลงานให้เขาไปจัดดอกไม้ให้ทั้ง พม่า กัมพูชา มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย
“เราควรเริ่มจากสิ่งที่เราชอบทำจริง ๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ให้คนวิจารณ์ว่าผลงานนี้ดียังไง ไม่ดียังไง จะทำอะไรอย่าเพิ่งมีอีโก้ ถ้ามีคนติงานเราได้ แปลว่ายังมีจุดบอด ต้องหาคำตอบให้ได้ แล้วน้อมรับปรับปรุงต่อไป ไม่มีอะไรถูกหมดผิดหมดหรอก ดูที่ความตั้งใจของเราว่ามีแค่ไหน”
วันนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้ได้กลายมาเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก เริ่มแตกไลน์ไปสายงานออกแบบ มีอีเวนท์งานดอกไม้ระดับชาติ ส่วนหนึ่งที่มีส่วนทำให้เขาพาธุรกิจดอกไม้ของเขาไปไกล มาจากประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน ทั้งที่เริ่มธุรกิจจากไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจมาก่อนเลย แต่ใช้วิธีสังเกต ศึกษา แก้ไข พัฒนา และความละเอียด ศึกษาใส่ใจ บางงานที่คนส่วนใหญ่อาจมองแค่ภาพรวมใหญ่ว่าสวยแล้ว แต่หลายครั้งที่เขามองว่าแค่สวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำให้ทุกคนยอมรับว่าสวยและบอกต่อกันได้ เพื่อเปิดช่องให้เราได้ลูกค้ารายต่อไปด้วย
“เวลามีโอกาสทำอะไร จะทำให้สุดของผม อย่างวันนั้นเพื่อนให้มาจัดดอกไม้ห้าหมื่นผมใช้ไปหกหมื่นคือขาดทุน แต่ผมรู้สึกว่าอยากให้มันเจ๋งที่สุด คนชอบคิดว่างานเล็ก ๆ งบน้อย ๆ ก็ทำตามงบ มันไม่ใช่เราต้องทำให้ดีที่สุด ผมจำวันที่ส่งจดหมายสมัครงานไปร้อยกว่าฉบับแล้วไม่มีตอบมาเลยสักฉบับได้ เลยตั้งปณิธานเลยว่าต่อไปผมจะเป็นคนเลือกงานเอง ไม่ใช่ให้งานมาเลือกผม ผมฝึกฝนตัวเองมาเรื่อย ๆ จนเลือกงานได้ หลังจากนั้นก็มาอยู่ในจุดที่เป็นคนเลือกลูกค้าได้ การอยู่ในจุดที่เลือกลูกค้าได้ ต้องใส่ใจงานใส่ใจคุณภาพให้ควรคู่กัน มันเป็นเป้าหมายที่ผมตั้งขึ้นมาตลอด”
เคล็ดลับอย่างหนึ่งของเขาคือ การทำให้ดีที่สุด โดยนักจัดดอกไม้เจ้าของตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ดอกไม้ ปี 2018 บอกว่า ความสมบูรณ์แบบไม่มีจริง มีแค่ทำให้ได้มากที่สุด ที่ต่อให้คนอื่นมาทำก็ทำไม่ได้ แต่เขาบอกว่าไม่อยากให้ยึดติดกับคำว่าเพอร์เฟค เพราะมันจะทำให้เกิดความเครียด นอกจากนี้เขายังบอกทีมงานอยู่ตลอดว่า ห้ามรับคำชมเมื่อมีคนมาบอกว่าเป็นที่หนึ่งของประเทศแล้ว เพราะส่วนตัวเขาไม่เคยรู้สึกว่าโลกนี้มีที่หนึ่งจริง
“คำว่าที่หนึ่งมันเป็นคำที่พร้อมกระโดดเป็นเบอร์ศูนย์ต่อไป คือพร้อมที่จะไม่ยอมรับการเรียนรู้ใหม่ ๆ แล้ว เบอร์ที่เราควรไปไกลสุดคือเบอร์สอง อย่างน้อยก็มีเบอร์ที่ให้เราไต่ขึ้นไปอยู่ตลอดชีวิต อย่าตกใจถ้าจะเป็นเบอร์สองโดยไม่มีเบอร์หนึ่ง แต่ถ้าไปยืนเบอร์หนึ่งเมื่อไหร่จะมีอีโก้ว่าเจ๋ง ไม่ยอมรับอะไรใหม่ ๆ นั่นเป็นเหตุให้ตกต่ำลงมาเรื่อย ๆ”
จากมุมมองคนที่ถือว่าประสบความสำเร็จ ผู้ก่อตั้ง เรนฟอเรสท์ เดอะ เว็ดดิ้ง ยังได้ให้ความเห็นว่า บางครั้งการประสบความสำเร็จ นั้นง่ายกว่าการที่รักษาเอาไว้ในระยะยาว เลยไม่อยากให้รีบประสบความสำเร็จ แต่อยากให้โฟกัสกับสิ่งที่ทำแล้วทำให้ดีที่สุด อย่างที่เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งจาก การเรียนถูกผิดจากการทำงานในองค์กรที่เล็กที่สุด เป็นธุรกิจครอบครัว ไปทำงานองค์กรระดับโลก เรียนรู้ระบบการทำงานทั้งหมด เป็นส่วนผสมที่สำคัญในการสร้างวิสัยทัศน์ในการทำงานธุรกิจ
การจะประสบความสำเร็จ ยิ่งรีบยิ่งช้า ควรหัดประสบความสำเร็จจากเรื่องเล็ก ๆ แล้วขยายใหญ่ขึ้นทีละน้อย หลายคนไม่รู้ว่าอะไรที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิต และอะไรคืออันดับที่สอง ที่สาม
“แพชชันมันจำเป็นแหละ แต่คนทั่วไปเข้าใจแพชชันอย่างถูกต้องแค่ไหน แอคชันคือการลงมือทำ ความฝันเกิดก่อน แต่การจะไปถึงต้องลุ่มหลงจริง ๆ แล้วมีแอคชันมาสนับสนุนให้ไปถึงฝันนั้นได้ เหมือนผมอยากมีที่จัดงานสวย ๆ ไว้จัดงาน อยากให้ลูกค้ามาถึงแล้วพูดว่ามันเจ๋งนะ อยากให้คนมาเห็นแล้วหลงใหลงานของเราอย่างที่เราหลงใหล ชื่นชมในสิ่งที่เราทำขึ้นมา แต่ถ้าเราสร้างอะไรที่เราคิดว่ามันสุดยอด แต่ไม่มีคนมาชมสักคนก็ใจเสียไหม อย่ามาหลอกตัวเองเลยว่าฉันโอเค เหมือนแต่งเพลงแล้วไม่มีคนฟังสักคนจะยังมีความสุขกับแพชชันไหม แพชชันเป็นแรงกำลังใจกับคนที่เสพสิ่งเดียวกันกับเรา ชื่นชมสิ่งเดียวกัน ไม่ใช่เราแค่คนเดียว ยิ่งแพชชันได้รับการยอมรับมากแค่ไหน ยิ่งแสดงว่าประสบความสำเร็จมากแค่นั้น แต่แพชชันแข็งแรง แต่ไม่มีคนสนับสนุนสักคนเดียว อีกไม่นานก็ต้องโยนแพชชันนั้นทิ้งไป”
ตอนนี้เขาเล่าว่าแพชชันของเขาคือการทำรายการเกี่ยวกับดอกไม้ชื่อรายการ รักดอก เพื่อให้คนจดจำเขาได้เวลาที่คิดถึงดอกไม้ ว่าเขาเป็นหัวแถวของประเทศในเรื่องดอกไม้ รวมถึงการเก็บเงินสักก้อนเพื่อซื้อที่ดินปลูกต้นไม้
“ผมตั้งใจเอาเงินที่มีไปซื้อที่ดินปลูกป่า แล้วเอาสัตว์มาปล่อยให้อยู่ตรงนั้น เพื่อคืนอะไรให้โลกบ้าง ปลูกต้นไม้เยอะ ๆ พอตายไปยังได้สร้างออกซิเจนให้กับโลกบ้าง เราไม่อยากเกิดมาเพื่อเอาประโยชน์แล้วก็จากไป อย่างน้อยได้ทิ้งอะไรไว้ให้โลกบ้างก็ยังดี”
ชื่อบริษัท เรนฟอเรสท์ เดอะ เว็ดดิ้งส หมายถึง ป่าดงดิบ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบในการผลิตยาสำคัญ ๆ หลายอย่าง ช่วยสร้างออกซิเจนให้โลก มองจากภายนอกป่าดงดิบจะดูสวยงานเสมอ แต่ในขณะเดียวกันในป่านี้มีทั้งสัตว์มีพิษ สัตว์ป่าดุร้ายต่าง ๆ ไม่แปลกเลยที่ โจ้-ชยวัสส์จะบอกว่า ตัวเขาไม่ใช่ดอกไม้ แต่เปรียบเสมือนป่าดงดิบ แล้วยังเป็นป่าที่มีดอกไม้หลากหลายอีกด้วย
“ผมอยากให้คนมีความสุขจากการได้เห็นความสวยงามของดอกไม้ การเริ่มทำธุรกิจอะไรก็ตาม เราควรคิดว่าธุรกิจของเราทำประโยชน์อะไรให้กับคนอื่น ดีกว่าไปคิดว่าทำอันนี้รวย ทำแล้วมีกำไร เพราะถ้าเกิดไม่ทำกำไรรวยจริง ๆ แล้วคุณจะทำอย่างไรต่อไป หากหาประโยชน์จากธุรกิจเฉย ๆ”
ขอบคุณภาพ : Artyphoto
เรื่อง : กิตยางกูร ผดุงกาญจน์
ภาพ : จุลดิศ อ่อนละมุน
อ่าน “โจ้-ชยวัสส์ ปัญจภักดี” นักจัดดอกไม้เบอร์ต้น ๆ ที่บ่มความฝันนานกว่า 40 ปี กว่าจะประสบความสำเร็จ
ในรูปแบบเว็บไซต์ได้ที่ https://thepeople.co/joe-rainforest-wedding/